15/03/2023

เกาะกระแสเทรนด์ Sustainability งาน Sublimation ก็ Eco Friendly ได้

จั่วหัวกันมาแบบนี้ อาจจะฟังดูยกยอปอปั้นงานซับลิเมชั่นเกินไปหน่อย แต่ที่เราจะนำมาแชร์กันผ่านเนื้อหาวันนี้มันคือข้อเท็จจริง โดยเฉพาะหากคุณต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจของคุณแบบ Eco Friendly ตามเทรนด์ Sustainability ที่ตอนนี้นั้นไม่ใช่แค่เทรนด์ และอาจจะกลายเป็นก้าวแรกของหลาย ๆ องค์กรที่ต้องการพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืน

นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ เพราะสิ่งแวดล้อมและชีวิตสำคัญไม่แพ้ผลกำไรทางธุรกิจ สตาร์ทถูกวิธีก็จะมีแต่อะไรดี ๆ เกิดขึ้นแน่นอน!

Eco Friendly
Image by rawpixel.com on Freepik

Eco Friendly ได้จริงหรือ ? Sublimation x Sustainability

ที่ผ่านมา กรรมวิธีการย้อมสีแบบเก่าที่นิยมกันมาเนิ่นนาน การผลิตสิ่งทอด้วยกระบวนการที่ว่านี้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากอย่างไม่น่าเชื่อ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวการหลักเลยก็ยังได้! เพราะสิ่งนี้ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำในอุตสาหกรรมทั่วโลกถึง 17-20% รวมถึงขยะมูลฝอยจำนวนมากที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเครื่องย้อมผ้าเริ่มตกรุ่น แต่แม้เมื่อไม่กี่ปีมานี้จะมีการผลักดันให้อุตสาหกรรมสิ่งทอสะอาดขึ้นในบางกระบวนการ แต่ก็ยังมีอยู่มากที่ยังคงใช้วิธีแบบเดิม ซึ่งสวนกันกับแนวทางเทรนด์ Sustainability ในปัจจุบัน และดูไม่ Eco Friendly เท่าไหร่นัก..

แต่อย่างที่ทราบกันดี หากใครที่อยู่ในวงการนี้มาสักพักจะเห็นว่าเทคนิคซับลิเมชั่นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการสกรีน การย้อมสี แบบเก่า โดยการพิมพ์แบบซับลิเมชั่น หรือ Sublimation Printing นั้นไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้น้ำและไม่ใช่การย้อมหมึก แต่สามารถให้สีที่สดใสและมีความทนทานในทุกการออกแบบ ส่วนแนวทางที่จะนำพาเรามุ่งสู่เทรนด์ดังกล่าวด้วยสิ่งนี้ เรามีแนวทางของ Purnaa ซึ่งได้ประเมินผลกระทบของการพิมพ์แบบซับลิเมชั่นที่มีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมแบ่งปันแนวทางที่พวกเขาได้สร้างระบบการพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ก้าวแรกของการเรียนรู้สู่ความยั่งยืน

Eco Friendly
Image by Freepik

Sublimation Printing สู่กระบวนการพิมพ์รักษ์โลกแบบครบวงจร ?

หากพูดถึงการสกรีน การย้อมสี แบบดั้งเดิม “น้ำ” เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการย้อมสีสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่วนใหญ่ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายโอนสีย้อมเข้าสู่สิ่งทอ ใช้น้ำปริมาณกว่า 200 ตัน ต่อการย้อมผ้าเพียง 1 ตัน นี่นับว่าเป็นปริมาณมาก แถมเรื่องการควบคุมน้ำที่ไม่ดีของเทศบาล อาจทำให้น้ำเหล่านี้กลับสู่ระบบนิเวศเดิมด้วยสารเคมีที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งอาจรวมถึงสารเคมีก่อมะเร็ง สีย้อม เกือล และโลหะหนัก สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างมลภาวะต่อแหล่งน้ำดื่มที่จำเป็นอีกต่างหาก

กลับกัน กระบวนการของ Sublimation Printing ไม่ได้ใช้น้ำเป็นหลักในการปรินท์ เปลี่ยนเป็นใช้ความร้อนแทน ด้วยเทคนิคการพิมพ์โดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า “การระเหิด” หมึกไปสู่กระดาษซับลิเมชั่น แม้จะยังมีหลายสิ่งอย่างที่ต้องปรับปรุง แต่คุณสามารถเลือกใช้แนวทางต่อไปนี้ยกระดับให้เครื่องพิมพ์ซับลิเมชั่นคุณควบคู่ไปกับการรักษ์โลกได้

Eco Friendly
Image by Freepik

แนวทางปฏิบัติสำหรับงานซับลิเมชั่นสู่เทรนด์ Sustainability

  1. สอบถามซัพพลายเออร์เกี่ยวกับเรื่องของหมึกซับลิเมชั่น เช็คว่ามีสารประกอบของบรรดาสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs : สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษทำลายโอโซน) หรือไม่ หากผู้ผลิตหมึกของคุณให้การรับรองของผลิตภัณฑ์ได้ ก็พร้อมดำเนินการได้เลย
  2. หลีกเลี่ยงหมึกพิมพ์ที่มีโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โครเมียม หรือปรอท หากมีซัพพลายเออร์ที่เป็นสมาชิกของ The Ecological and Toxicological Association of Dyes and Organic Pigments Manufacturers (ETAD) มีใบรับรอง มั่นใจได้ว่าปลอดสารที่กล่าวไปข้างต้นชัวร์
  3. พิจารณาเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ ซึ่งการพิมพ์แบบระเหิดส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ เนื่องจากหมึกซับลิเมชั่นต้องจับตัวกันทางเคมีกับโพลีเมอร์ ซึ่งไม่มีอยู่ในเส้นใยธรรมชาติ และสิ่งนี้นั้นก่อให้เกิดไมโครพลาสติกในน้ำได้ ใช้เวลานานมากในการย่อยสลาย หากคุณสามารถดีลกับซัพพลายเออร์ให้ใช้โพลีเอสเตอร์รีไซเคิลได้จะช่วยอย่างมาก พร้อมทั้งมีวิธีตรวจสอบลูกค้าของคุณว่ามีวิธีรีไซเคิลผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเมื่อหมดอายุการใช้งาน

ทั้ง 3 แนวทางที่ได้กล่าวมา ข้อสุดท้ายนี้อาจจะยากและจำกัดกระบวนการทางธุรกิจพอสมควร หากทำได้จะส่งผลที่ดีมากต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะเป็นการเริ่มต้นสู่ความยั่งยืนขององค์กรคุณ นี่ยังช่วยให้บรรดาซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องนั้นเดินไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดี ควรค่าต่อการเริ่มต้นอย่างมากเลยทีเดียว

Cover Image : Image by Freepik

ขอบคุณข้อมูลจาก :

https://www.purnaa.com/post/sustainability-in-sublimation-printing

https://www.auspirit.com/is-dye-sublimation-sustainable/

สาระทั่วไป , , , ,